การดูแลตนเองในที่ที่มีควันไฟ

การดูแลตนเองในที่ที่มีควันไฟ

แม้ในเมืองจะไม่ค่อยเห็นการเผาขยะหรือเผาฟาง เผาหญ้าแห้งกันมากนัก แต่ตามต่างจังหวัดหรือชนบทยังมีการเผาไหม้ที่เกิดจากคนเผามากอยู่ดี การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดเขม่าควัน ฝุ่นละออง และก๊าซพิษต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดทำให้ปอดอักเสบ นานเข้าก็อาจทำให้เกิดโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพองหรือมะเร็งปอดได้

นอกจากการเผาขยะแล้ว การหุงข้างด้วยฟืน การก่อไฟผิง การสูบบุหรี่หรือแม้กระทั่งการจุดธูป จึงเป็นการก่อมลพิษโดยตรงที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัวและชุมชนใกล้เคียงอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ทำให้ผู้ที่เข้าปะทะกับควันเหล่านี้มีอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหล หากเป็นโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจทำให้โรคกำเริบได้ กลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดก็เห็นจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ฯลฯ มีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพเมื่อประสบกับควันไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
– ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าลินินหลาย ๆ ชั้น หากทำให้เปียกด้วยก็จะยิ่งช่วยกรองฝุ่นควันได้ดีขึ้น และเมื่อเริ่มอึดอัดหายใจไม่สะดวกหรือสกปรกแล้วก็ควรเปลี่ยนผืนใหม่ด้วย
– ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้ควันไฟลอยเข้าภายในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย หากมีแอร์คอนดิชั่นหรือเครื่องกรองอากาศควรทำความสะอาดระบบกรองเป็นประจำ
– ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไว้เสมอ หากภายในครอบครัวมีกลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยควรสังเกตอาการ และหากมีสิ่งผิดปกติควรรับส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนในสังคมควรร่วมมือกัน หลีกเลี่ยงการก่อควันไฟซึ่งทำให้เป็นอันตรายและก่อมลพิษ หากทำได้ทุกคนก็จะทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นไปด้วยค่ะ