สิว อาการ การักษา วิธีป้องกัน

สิว อาการ การักษา วิธีป้องกัน

สิว acne vulgaris เกิดจากการอักเสบ ของรูขนและ ระบบต่อมไขมัน (sebaceous) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ ที่มีหนองเป็นไตสีขาวอยู่ข้างใน หรือ เป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง พบมากที่บริเวณ หน้า หน้าผาก คอ หน้าอก หลัง ไหล่ หรือต้นแขน เกิดขึ้นได้จากผิวหนังมีการอุดตัน หรือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งจะยิ่งอักเสบได้ง่าย หากเจอกับสิ่งกระตุ้น อย่างเช่น แบคทีเรีย หรือ ฝุ่นละอองอากาศ หรือเกิดจากความสกปรก

ประเภทของสิว
สิว แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. สิวที่ไม่มีการอักเสบ / หรือสิวอุดตันที่ไม่มีการอักเสบ
สิวหัวขาว / สิวหัวปิด เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งสีขาวจะเห็นชัดขึ้นเมื่อดึงผิวหนังให้ตึงหรือโดยการคลำ
สิวหัวดำ / สิวหัวเปิด เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งคล้าย closed comedone แต่ตรงยอดมีรูเปิดและมีก้อนสีดำอุดอยู่
(สิวหัวขาว – สิวหัวดำ นั้นเป็นสิวที่ผิวหนังหมดสภาพเข้าไปอุดตัน)

2. สิวที่มีการอักเสบ / หรือสิวที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย P.Acne จนเกิดการอักเสบและกลายเป็นหนอง
สิวอักเสบ เป็นตุ่มสีแดงภายในมีหนองปนเลือด บางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกัน
สิวหนอง เป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็ก
สิวหัวช้าง เป็นก้อนนูนแดง นิ่ม ภายในมีหนองปนเลือด เมื่อสิวหายอาจจะเหลือร่องรอยได้หลายแบบ ได้แก่ รอยแดง, รอยดำ, หลุมแผลเป็น,แผลเป็นนูน

ความรุนแรงของสิว

ความรุนแรงอย่างอ่อน 
จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
– มีสิวเสี้ยนที่ไม่อักเสบน้อยกว่า 20 หัว
– มีสิวที่มีการอักเสบน้อยกว่า 15 หัว
– หรือมีจำนวนสิวน้อยกว่า 30 หัว

ความรุนแรงระดับปานกลาง
– มีสิวที่ไม่มีการอักเสบ 20-100 หัว
– มีสิวที่มีการอักเสบ 15-50หัว
– หรือมีจำนวนสิวมากกว่า 30-125 หัว

เป็นสิวระดับรุนแรง
– มี ตุ่มหนอง มากกว่า 5 ตุ่มหนอง
– มีจำนวนหัวสิวมากกว่า 100 หัว
– มีจำนวนสิวอักเสบมากกว่า 50 หัว
– มีจำนวนหัวสิวทั้งหมดมากกว่า 125

สาเหตุของการเกิดสิว
สาเหตุของการเกิดสิวนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น
1. รูเปิดและท่อทางเดินของต่อมไขมันอุดตัน (Ductal hypercornification) อักเสบทำให้เกิดสิวอุดตัน
2. แบคทีเรีย ส่วนใหญ่จากเชื้อแบคทีเรีย พวก P.acnes แต่บางครั้งมีการติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนได้
3. เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว บางคนใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวหลายชนิด และเกิดอาการแพ้ ระคายเคืองทำให้ท่อทางเดินของต่อมไขมันเกิดการอักเสบและอุดตัน ทำให้เกิดสิวได้
4. ช่วงใกล้มีประจำเดือน (Premenstrual) ประมาณ 1 อาทิตย์ ก่อนมีประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย จะกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้นได้
5. ยา บางชนิดทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ชนิดกินและชนิดทา ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น
6. กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าพ่อแม่เป็นสิวมาก ลูกก็มีโอกาสเป็นสิวมากเช่นกัน
7. ความเครียด วิตกกังวล ผู้ที่ทำงานหนักมากเกินไป เครียด วิตกกังวลมาก นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะเกิดสิวได้ง่าย
8. การถู ขัดหน้า พอกหน้า สารพัดแบบ ถ้าท่านทำมากเกินไปบ่อยครั้งจนเกินไป จะทำให้ตัวคลุมผิวตามธรรมชาติ (skin barrier) หลุดลอกออกไป ผิวหน้าจะยิ่งบางลง และไวต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น จะเกิดการแพ้ ระคายเคือง และเกิดสิวมากขึ้นได้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
9. อาหาร เครื่องดื่มพวกเหล้า เบียร์ ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ จะมีส่วนทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้
10. อากาศร้อน ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนมากๆ จะเกิดสิวได้ง่ายกว่าที่มีอากาศเย็นๆ ฯลฯ

วิธีดูแลรักษาและป้องกันการเกิดสิว
– ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยสบู่อ่อนๆวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้า และก่อนนอน ใช้ผ้าขนหนูซับหน้าเบาๆ
– ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป หรือขัดหน้าแรงๆ เพราะจะทำให้หน้าสูญเสียไขมัน และขาดความชุ่มชื้น
– เลือกใช้เครื่องสำอางค์ที่เหมาะสมกับสภาพของผิว หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางค์ที่มีไขมันอยู่มาก
– ไม่ควรเอามือสัมผัสกับใบหน้าบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหัวสิว
– ห้ามบีบหรือแกะสิว เป็นอันขาด เพราะจะทำให้สิวลุกลามได้
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมัน และหวาน
– หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด
– เลือกยาทาสิวที่เหมาะกับชนิดของสิว ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
– เลือกยารับประทาน หรือยาแก้อักเสบของสิว ที่ขึ้นกับแพทย์ที่ดูแล
– ถ้าหากว่าเป็นสิวชนิดรุนแรง แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์จัดยาในการรักษาให้

ยารักษาสิว
ยารักษาสิวนั้นมีทั้งชนิดภายนอกและภายใน สิวที่ไม่มีการอักเสบมาก ส่วนมากจะใช้เป็นยาภายนอก คือ ยาทา แต่สำหรับคนที่เป็นสิวอักเสบ หรือสิวขั้นรุนแรง มักจะต้องใช้ทั้งภายนอกและภายใน คือต้องทายาและทานยาอื่นๆ เช่น ฮอร์โมน หรือวิตามิน ร่วมด้วยกัน ส่วนตัวยา แนะนำให้ไปปรึกษาเภสัชกร เพื่อจะได้เลือกยาที่เหมาะสมกับสภาพผิวหน้าของตนเองค่ะ