โรคมะเร็ง อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

โรคมะเร็ง อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

มะเร็งคืออะไร มะเร็ง เป็นเนื้องอกชนิดร้าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ เป็นเซลล์ร่างกายที่มีการเติบโตไม่เป็นไปตามแผนของระบบร่างกาย หรืออยู่เหนือการควบคุมของร่างกาย ก่อให้เกิดเป็นเนื้อร้าย และรุกรานสู่ร่างกายส่วนข้างเคียง สามารถแพร่กระจายไปยังร่างกายส่วนที่อยู่ห่างไกลได้ ผ่านระบบน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด แต่ไม่ติดต่อกับก้อนมะเร็งเดิม มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้จากเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้น ขน ผม เล็บที่งอกออกมา ส่วนเนื้องอกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อร้ายเสมอไป เพราะเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งจะไม่ลุกลามอวัยวะข้างเคียงและไม่มีการกระจายไปทั่วร่างกาย เหมือนกับเนื้องอกมะเร็ง

อาการอย่างไรที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ป่วยจำนวนมากที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย เนื่องจากระยะเริ่มต้นที่เป็นนั้น ยังมีเซลล์มะเร็งจำนวนน้อยอยู่ และส่วนมากจะยังไม่มีอาการบ่งบอก ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด หากท่านไม่ได้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างละเอียด ก็เป็นไปได้ยากมากที่จะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง แต่เมื่อมะเร็งได้มีการลุกลามหรือมีการทำลายเซลล์ กระดูก หรือเส้นประสาทแล้ว จะทำให้มีอาการปวดมาก และจะมีอาการข้างเคียง การที่จะทราบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มนั้น ท่านจะต้องทราบอาการเริ่มต้นก่อน ซึ่งอาการเริ่มต้นของมะเร็งพบได้ในมะเร็งทุกชนิด และเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคที่เป็นโดยด่วน

อาการที่บ่งบอกโรคมะเร็ง (ทั้งในเพศชาย และ เพศหญิง)
– พบก้อนเนื้อแปลกปลอมในร่างกาย
– มีอาการป่วย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ร่างกายทรุดโทรมลง
– นอนไม่หลับ ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส
– ทานอาหารไม่ลง กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้อง ปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
– ท้องร่วงเรื้อรัง
– แผลไม่หายใน 2-3 สัปดาห์
– มีแผลในปาก และลิ้น รักษาไม่หาย
– ปัสสาวะลำบาก มีเลือดออกทางปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด หรือมีเลือดปน
– มีอาการเสียงแหบ ไอเรื้อรัง
– มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย
– มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นตามร่างกาย
– มีการเปลี่ยนแปลงทางเต้านม

อาการเริ่มต้นของมะเร็งในแต่โรค
1. มะเร็งผิวหนัง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน กระในคนแก่ โดยมีอาการคันแตกเป็นแผล เรื้อรังไม่หาย ไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าทิ้งไว้นานจะแผลจะโตเร็วขึ้น มีเลือดออก
2. มะเร็งในช่องปาก จะมีก้อนเนื้อหรือแผลในปาก ลิ้น เยื่อบุช่องปาก เป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย โดยเริ่มต้นจะมีฝ้าขาวๆ
3. มะเร็งจมูกและโพรงหลังจมูก มีอาการเลือดออกทางจมูก หน้าชา คัดจมูก ปวดหัวมาก ต่อมาอาจมีเลือดปนน้ำเหลืองออกทางจมูก หูอื้อ กลืนไม่ได้ ตาเข ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
4. มะเร็งที่กล่องเสียง มีอาการเสียงแหบเรื้อรังและอาจมีอาการเจ็บคอ เวลากลืนเหมือนมีก้างติดคอต่อมามีเลือดออกปนกับเสมหะ
5. มะเร็งหลอดอาหาร เริ่มแรกอาจรู้สึกเจ็บเวลากลืนอาหาร ต่อมากลืนข้าวสวยไม่ได้ ต่อมากลืนข้าวต้มไม่ได้ จนในที่สุดกลืนได้แต่ของน้ำๆ หรือ กลืนอะไรก็ไม่ลงเลย พบมากในผู้ชาย
6. มะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด แน่นท้องอยู่เรื่อย เบื่ออาหาร ต่อมาอาจมีอาเจียน คลำก้อนได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย น้ำหนักลด ซีด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ
7. มะเร็งตับอ่อน เริ่มแรกอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ต่อมามีอาการปวดท้อง และปวดหลังดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีดขาว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
8. มะเร็งลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ น้ำหนักลด เป็นไข้ หรือมีภาวะลำไส้อุดตัน (ปวดท้องรุนแรง อาเจียน) บางรายอาจมีอาการดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีด ขาว อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง
9. มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินแบบเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด หรือมูกปนเลือดเรื้อรัง ปวดท้อง ปวดหลัง ซีด น้ำหนักลด
10. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ อาจมีไข้เรื้อรัง สัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคเอดส์
11. มะเร็งเต้านม คลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (เดิมเป็นปกติ เพิ่งมาบุ๋มตอนหลัง) หรือมีน้ำเหลืองหรือเลือดออกทางหัวนม ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันโต
12. มะเร็งปากมดลูก มีเลือดออกเวลาร่วมเพศ มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด หรือมีตกขาวเรื้อรัง
13. มะเร็งอัณฑะ พบมีก้อนแข็งที่ถุงอัณฑะ และโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย
14. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัดและบ่อย
15. มะเร็งต่อมลูกหมาก มักไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ทำให้มีอาการขัดเบา ปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลังหรือปวดสะโพกน้ำหนักลด มักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
16. มะเร็งกระดูก มีอาการข้อบวม กระดูกบวม บางครั้งพบหลังเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เข้าใจว่าเป็นกระดูกหักได้
17. มะเร็งของลูกตาในเด็ก (Retemoblastoma) นัยน์ตาดำของเด็กมีสีขาววาวคล้ายตาแมว เด็กจะบ่นว่าตาข้างนั้นมัว หรือมองอะไรไม่เห็น เมื่อเป็นมากขึ้น ตาจะเริ่มปูดโปนออกมานอกเบ้าตา
18. มะเร็งรังไข่หรือไต มีอาการมีก้อนในท้อง ท้องมาน ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งตับ มะเร็งในสมอง จะมีอาการแบบเดียวกับเนื้องอกในสมอง มะเร็งต่อมไทรอยด์

การรักษามะเร็ง
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาโดยดูอาการ และความแข็งแรงของร่ายกายผู้ป่วย แพทย์จะรักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย ส่วนมากจะใช้วิธีรักษาดังนี้
1. รังสีบำบัด การฉายแสงบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่
2. ยารักษามะเร็ง เคมีบำบัด เป็นการรักษาโดยการทำลายเซลล์มะเร็งทั้งที่ต้นตอและที่กระจาย ไปตามทางเดินน้ำเหลือง กระแสเลือดหรืออวัยวะอื่นของร่างกาย เป็นการรักษามะเร็ง แบบทั้งตัวของผู้ป่วยมะเร็ง โดยการรับประทานยาที่มีความสามารถในการฆ่า หรือทำลาย เซลล์มะเร็ง ฉีดยาทางหลอดเลือดดำหรือแดง
3. ศัลกรรมผ่าตัด ถ้ามะเร็งนั้นลุกลามไปมาก แพทย์จะใช้วิธีศัลยกรรม ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างไม่ให้เกิดการลุกลามไปยังร่างกายส่วนอื่น
4. การใช้ฮอร์โมน ในการรักษา เนื่องจากมะเร็งบางชนิดมีความไวต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน และการรักษาโดยการเพิ่ม ภูมิคุ้มกัน ให้กับร่างกาย เพื่อที่จะได้กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย และผู้ป่วยก็จะหายจากโรคมะเร็งได้

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการรักษามะเร็ง
– การรักษาโรคนี้ผู้ป่วยจำต้องมีความอดทน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าเชื่อชาวบ้านด้วยกันอย่างผิดๆ อย่าเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย และอย่าหันไปพี่งยาหม้อ แทนการแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการดังกล่าวอาจช่วยให้เกิดกำลังใจดีขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

– ทั้งผู้ป่วยและญาติ ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจ ด้วยการยอมรับความจริง, ทำใจให้อยู่กับปัจจุบันและใช้เวลาปัจจุบันให้มีคุณค่าที่สุด, ระหว่างการรักษากับแพทย์และยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี ก็ทำหน้าที่การงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด หาทางเข้ากลุ่ม พูดคุยปรับทุกข์ และให้กำลังใจร่วมกันกับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยกัน (เช่น การเข้า กลุ่มหรือชมรมช่วยเพื่อน)

วิธีป้องกัน และการดูแลตนเองให้พ้นจากมะเร็ง
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็ง ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท สุกๆดิบๆ อาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีราขึ้นโดยเฉพาะราสีเขียว-สีเหลือง และอาหารที่มีการถนอมด้วยเกลือ ดินประสิว นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัยครบทั้งห้าหมู่ หรือรับประทานอาหารต้านมะเร็งที่หาซื้อได้ง่ายๆ อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และเครื่องเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่การตากแดดจัดๆ ก็มีสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ควรออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-4 ชม. ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะสามารถป้องกันและลดการเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้

สาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง
ในปี พ.ศ. 2553 สถิติมะเร็งที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรกในประเทศไทย

อันดับ เพศชาย จำนวน % เพศหญิง จำนวน %
1 มะเร็งหลอดลม, ปอด 23.6 มะเร็งเต้านม 47.8
2 มะเร็งลำไส้ใหญ่ 21.5 มะเร็งคอมดลูก 16.2
3 มะเร็งตับ, ท่อน้ำดี 17.3 มะเร็งลำไส้ใหญ่ 10.4
4 มะเร็งหลอดอาหาร 8.2 มะเร็งหลอดลม, ปอด 7.1
5 มะเร็งคอหอยส่วนจมูก 6.6 มะเร็งมดลูก 4
6 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดเฉียบพลัน 6.4 มะเร็งรังไข่ 4
7 มะเร็งลิ้น 4.8 มะเร็งตับ 3.5
8 มะเร็งปาก 4.5 มะเร็งไทรอยด์ 2.6
9 มะเร็งกล่องเสียง 3.7 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดเฉียบพลัน 2.4
10 มะเร็งกระเพาะอาหาร 3.6 มะเร็งกระเพาะอาหาร 2

 


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *