7 มาตรการเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกจากยุงลาย

7 มาตรการ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกจากยุงลาย

ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงมากกว่าในช่วงอื่น เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่เมื่อฝนตกลงมาแล้วมีน้ำขังเฉอะแฉะ ยุงลายจึงบินมาวางไข่ได้มากขึ้น ยิ่งหากมีใครสักคนในชุมชนป่วยเป็นไข้เลือดออกขึ้นแล้ว ก็ยากจะคาดเดาจำนวนผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ หากในครอบครัวมีผู้ป่วยเกิดเป็นไข้ เมื่อยเนื้อตัวควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น หากใช้ยาลดไข้ตัวอื่น และหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก อาจกระตุ้นให้เลือดออกในร่างกายมากขึ้นจนช็อกและอันตรายได้ นอกจากนี้แล้วก็ให้ดูแลเหมือนผู้ป่วยเป็นไข้ทั่วไป แต่หากมีอาการซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียนมาก ตัวเย็นผิดปกติ ก็ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ก็คือการดูแลสภาพแวดล้อมมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน หมู่บ้าน ด้วยมาตรการ 7 ป. ดังต่อไปนี้

1. ปิดฝาภาชนะที่เก็บน้ำได้ทุกชนิด หากไม่มีฝาก็ให้หาแผ่นไม้หรือวัสดุอื่นใดก็ได้ที่ทนน้ำมาปิดไว้เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่

2. ปล่อยปลากินลูกตามแหล่งน้ำขังเพื่อตัดวงจรยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูงเป็นต้น

3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในหมู่บ้าน ทั้งในบ้านและนอกบ้านไม่ให้มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์เก่า กระป๋อง กระบอกน้ำเก่า ถัง โอ่งเก่า ฯลฯ ควรคว่ำไว้ให้หมด

4. ปรับสภาพของน้ำ เพื่อไม่ให้ยุงมาวางไข่โดยการใส่ทรายอะเบท น้ำส้มสายชู หรือเกลือแกงลงไปในน้ำ

5. เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ถ้วยรองตู้กับข้าว หรืออื่น ๆ บ่อย ๆ อย่างน้อยทุกอาทิตย์

6. ป้องกันยุงกัด ด้วยการใช้สารเคมี สมุนไพรตามธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม เปลือกส้ม เป็นต้น

7. ปฏิบัติให้ต่อเนื้อทั้ง 6 ข้อข้างต้นจึงจะช่วยกันป้องกันโรคไข้เลือดออกได้